วันศุกร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

“ธาริต”ห่วงเปิดเสรีอาเซียนทำปัญหาค้ามนุษย์รุนแรง


( 24 ก.ค.) ที่โรงแรม ดิ เอเมอร์รัล รัชดา  นายธาริต  เพ็งดิษฐ์  อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เป็นประธานเปิดการประชุมเครือข่ายภูมิภาคประเทศในแถบลุ่มแม่น้ำโขงในการป้องกันและแก้ปัญหาการค้ามนุษย์  โดยมีประเทศเข้าร่วม 7 ประเทศ  ประกอบด้วย  กัมพูชา , สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว , สหภาพพม่า , เวียดนาม , สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีน , มาเลเซียและประเทศไทย โดยนายธาริต  กล่าวว่า  ปัจจุบันปัญหาการค้ามนุษย์เป็นปัญหาสำคัญที่ต้องได้รับการแก้ไขก่อนที่ประเทศไทยจะเข้าสู่การเป็นสมาชิกประชาคมอาเซียน  เพราะการติดต่อสื่อสารอย่างไร้พรมแดนจะกลายเป็นช่องโหว่ให้ปัญหาทวีความรุนแรงมากขึ้นได้  ในส่วนของปัญหาการค้ามนุษย์แถบประเทศลุ่มแม่น้ำโขง
"ขณะนี้แบ่งลักษณะปัญหาได้ 4 รูปแบบคือ การค้าประเวณีในหญิงและเด็ก  ซึ่งถือเป็นปัญหาร้ายแรงที่สุดเนื่องจากเป็นการล่วงละเมิดทางเพศ คุกคามการปฏิบัติต่อผู้หญิงและเด็กรวมถึงยังขัดต่อศีลธรรม  รองลงมาคือการบังคับใช้แรงงานเรือประมงที่พบว่ามีผู้ถูกหลอกเป็นจำนวนมาก  การหลอกเป็นขอทานและการเรียกค่าไถ่  ซึ่งข้อมูลที่ตรวจสอบในส่วนประเทศไทย พบว่ามีความน่าเป็นห่วงเนื่องจากเป็นทั้งประเทศที่เป็นแหล่งค้ามนุษย์ , แหล่งที่ถูกหลอกไปค้ามนุษย์ และเป็นทางผ่านของขบวนการค้ามนุษย์ ซึ่งจำเป็นต้องมีการแก้ไขออย่างจริงจัง  เบื้องต้น ดีเอสไอรับคดีที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์เป็นคดีพิเศษแล้ว 5 คดี และยังมีคดีที่อยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวนอีกจำนวนมาก" นายธาริต กล่าว

ด้านพ.ต.อ.ซก  ริคเม (Sok  Reakmey) รองอธิบดีกรมการค้ามนุษย์และป้องกันเด็ก ของประเทศกัมพูชากล่าวว่า  ปัญหาการค้ามนุษย์ในประเทศกัมพูชาเกิดจากประชาชนต้องการรายได้เพิ่มขึ้น  ส่วนใหญ่ตั้งใจเข้ามาทำงานเป็นพนักงานเสิร์ฟหรือพนักงานโรงงานแต่กลับโดนหลอกค้าแรงงานหรือค้าประเวณี ซึ่งการประชุมครั้งนี้จะได้นำข้อมูลของแต่ละประเทศมาหารือร่วมกันให้เกิดความร่วมมือในระดับทวิภาคีเพราะเป็นปัญหาที่ซับซ้อน

พ.ต.ท. เงือน  หลาย (Nyunt  Hlaing)  หัวหน้าหน่วยต่อต้านการค้ามนุษย์  สหภาพพม่า  กล่าวว่า การประชุมเครือข่ายภูมิภาคประเทศลุ่มแม่น้ำโขงจะทำให้บางประเทศที่ยังไม่เคยได้หารือถึงแนวทางการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ได้แลกเปลี่ยนความรู้เพื่อหาแนวทางในการแก้ปัญหา  ส่วนกรณีที่แต่ละประเทศมีกฎหมายเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ที่แตกต่างกันนั้นเชื่อว่าจะไม่เป็นปัญหาในการทำงานร่วมกันหากเน้นประเด็นการให้ความช่วยเหลือเหยื่อและส่งกลับประเทศ  โดยตนมองว่าการแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์ต้องอาศัยความร่วมมือและการทำงานให้เท่าทันเหตุการณ์  โดยเฉพาะการช่วยเหลือเหยื่อควรมีกระบวนการที่เร่งรัดเพราเหยื่อหลายรายมักให้การเปลี่ยนแปลงหรือให้ข้อมูลผู้กระทำความผิดไม่ตรงกับเหตุการณ์เมื่อระยะเวลาในการดำเนินคดีทอดยาวออกไป

นายบัณฑิต  ศรีวิไล ผู้อำนวยการกรมสกัดกั้นและต่อต้านการค้ามนุษย์ สาธารณรัฐประชาชนลาว กล่าวว่า  การแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ต้องร่วมมือกันเพราะเป็นอาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งในส่วนของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวมีกฏหมายอาญาและกฎหมายว่าด้วยการปกป้องผู้หญิงและเด็กไว้ดำเนินการกับกลุ่มนายหน้าค้ามนุษย์   โดยลักษณะการค้ามนุษย์ของลาวจะเป็นการหลอกลวงกันเองเพื่อนำไปบังคับให้ค้าประเวณี  โดยกลุ่มคนเหล่านี้จะมีอายุระหว่าง 15-18 ปี


ที่มา: http://www.dailynews.co.th/crime/137645

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น