วันจันทร์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2554

กฎหมายมหาชน

ความหมายของกฎหมายมหาชน


อัลเปียน (ULPIAN) นักปราชญ์สมัยโรมันยุคคลาสสิก ได้อธิบายไว้ว่า "กฎหมายมหาชน ได้แก่ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสาธารณรัฐโรมัน ส่วนกฎหมายเอกชนนั้น ได้แก่ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์ของเอกชนแต่ละคน"

ศาสตราจารย์ Maurice DUVERGER (ศ. มอริส ดูแวร์เช่)
 แห่งมหาวิทยาลัยปารีส ได้อธิบายไว้ว่า
"กฎหมายมหาชน ได้แก่ กฎหมายที่กล่าวถึงกฎเกณฑ์ทั้งหลายของกฎหมายที่เกี่ยวกับสถานะและอำนาจของผู้ปกครอง รวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองกับผู้อยู่ใต้ปกครอง
กฎหมายเอกชน ได้แก่ กฎเกณฑ์ทั้งหลายของกฎหมายที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางกฎหมายระหว่างผู้อยู่ใต้ปกครองด้วยกัน"

ศาสตราจารย์ Andre de LAUBADERE (ศ. อองเดร เดอ โรมาแดร์) ได้อธิบายไว้ว่า
"กฎหมายมหาชนเป็นกฎหมายที่วางกฎเกณฑ์แก่สาธารณบุคคล (Personnes Publiques) อันได้แก่ รัฐ องค์การปกครอง และรวมตลอดถึงนิติบุคคลตามกฎหมายมหาชนอื่น ๆ (เช่น มหาวิทยาลัย โรงพยาบาล) กฎหมายมหาชนจะวางกฎเกณฑ์แก่สาธารณบุคคลในด้านองค์กร การดำเนินงาน ความสัมพันธ์ระหว่างสาธารณบุคคลด้วยกัน ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างสาธารณบุคคลและเอกชน"

ศาสตราจารย์ ดร.หยุด แสงอุทัย ได้อธิบายไว้ว่า
"กฎหมายมหาชน ได้แก่ กฎหมายที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ หรือหน่วยงานของรัฐกับราษฎร ในฐานะที่เป็นฝ่ายปกครองราษฎร กล่าวคือ ในฐานะที่รัฐมีฐานะเหนือราษฎร
กฎหมายเอกชน ได้แก่ กฎหมายที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนต่อเอกชนด้วยกัน ในฐานะที่เท่าเทียมกัน"

ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้อธิบายไว้ว่า
"กฎหมายมหาชนนั้น อาจให้บทวิเคราะห์ศัพท์ดังนี้คือ เป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายอันเกิดขึ้นเนื่องจาก การที่ประเทศแสดงตัวเป็นผู้บังคับปกครองในพระราชอาณาจักร โดยรักษาความสงบเรียบร้อย ระเบียบ การเก็บภาษีอากร และการที่ประเทศแสดงตัวนอกพระราชอาณาจักรเป็นผู้ทำการเกี่ยวพันกับประเทศอื่น"

รศ. ดร.ภูริชญา วัฒนรุ่ง ได้อธิบายความหมายของกฎหมายมหาชนไว้ว่า
"กฎหมายมหาชน ได้แก่ กฎหมายที่กล่าวกำหนดถึงกฎเกณฑ์ทางกฎหมายทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับ "สถานะและอำนาจ" ของรัฐและผู้ปกครอง รวมทั้งเป็นกฎเกณฑ์ทางกฎหมายที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและผู้ปกครองกับพลเมืองผู้อยู่ใต้การปกครอง ในฐานะที่รัฐและผู้ปกครองมีเอกสิทธิ์ทางปกครองเหนือพลเมือง ซึ่งอยู่ในฐานะเป็นเอกชน"


     ความแตกต่างของกฎหมายมหาชนกับกฎหมายเอกชน มี 6 ประการดังต่อไปนี้


1. ความแตกต่างขององค์กรหรือบุคคลที่เข้าไปมีนิติสัมพันธ์ 
กฎหมายมหาชน เป็นกฎหมายที่ใช้เมื่อองค์กรหรือบุคคลที่เข้าไปมีนิติสัมพันธ์คือรัฐ หน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐฝ่ายหนึ่งกับเอกชนอีกฝ่ายหนึ่ง โดยฝ่ายรัฐนั้นมีฐานะเหนือกว่าเอกชน
ส่วนกฎหมายเอกชน เป็นกฎหมายที่ใช้เมื่อนิติสัมพันธ์นั้นเกิดขึ้นระหว่างผู้อยู่ใต้ปกครองด้วยกัน (คือเอกชนกับเอกชน) ในฐานะที่เท่าเทียมกัน โดยผู้ปกครองไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

2. ความแตกต่างทางด้านเนื้อหาและความมุ่งหมาย
กฎหมายมหาชน มีจุดมุ่งหมายเพื่อสาธารณประโยชน์และการดำเนินการบริการสาธารณะโดยไม่ได้มุ่งหวังในเรื่องผลกำไร
ส่วนกฎหมายเอกชนนั้น มีจุดมุ่งหมายเพื่อประโยชน์ของเอกชนแต่ละคนหรือเฉพาะบุคคล เว้นแต่ในบางกรณีที่เอกชนอาจทำเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมก็ได้ เช่น การตั้งมูลนิธิหรือสมาคมเพื่อการกุศลและ
สาธารณประโยชน์

3. ความแตกต่างทางด้านรูปแบบของนิติสัมพันธ์
กฎหมายมหาชน มีลักษณะเป็นการบังคับและหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะออกมาในรูปของคำสั่งหรือข้อห้ามที่เรียกว่า "อำนาจบังคับฝ่ายเดียว" กล่าวคือ รัฐสามารถที่จะกำหนดหน้าที่ทางกฎหมายให้กับเอกชนได้ โดยที่เอกชนไม่จำเป็นต้องตกลงยินยอมสมัครใจด้วย เช่น การออกกฎ (เช่น พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ประกาศกระทรวง ข้อบัญญัติท้องถิ่น ฯลฯ) หรือการออกคำสั่งทางปกครอง (เช่น การสั่งการ การอนุญาต การอนุมัติ การวินิจฉัยอุทธรณ์ การรับรอง การรับจดทะเบียน ฯลฯ) ของฝ่ายปกครอง เป็นต้น
ส่วนกฎหมายเอกชนนั้น จะตั้งอยู่บนพื้นฐานของความมีอิสระในการแสดงเจตนา มีความเสมอภาค และเสรีภาพในการทำสัญญา เช่น การทำสัญญาในทางแพ่งนั้นย่อมเกิดขึ้นได้ด้วยการแสดงเจตนาโดยความสมัครใจของคู่สัญญา (คำเสนอกับคำสนองถูกต้องตรงกัน) คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งจะไปบังคับคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งให้มาทำสัญญาด้วยไม่ได้ เป็นต้น

4. ความแตกต่างทางด้านนิติวิธี
กฎหมายมหาชน มีแนวความคิดหรือการวิเคราะห์อย่างเป็นระบบในแนวทางตามแบบของกฎหมายมหาชน (นิติวิธีทางกฎหมายมหาชน) โดยจะไม่นำกฎหมายเอกชนมาปรับใช้โดยตรงกับปัญหาที่เกิดขึ้นตามกฎหมายมหาชน
ส่วนกฎหมายเอกชน มีแนวความคิด (นิติวิธี) อย่างเป็นระบบในแนวทางตามกฎหมายเอกชน ซึ่งจะเน้นในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนกับเอกชน และมุ่งรักษาประโยชน์ของเอกชนด้วยกันเอง

5. ความแตกต่างทางด้านนิติปรัชญา
กฎหมายมหาชน มีปรัชญาที่มุ่งประสานผลประโยชน์สาธารณะกับผลประโยชน์ของเอกชน ในลักษณะเพื่อให้เกิดความสมดุลของประโยชน์ทั้งสองฝ่าย หรืออีกนัยหนึ่งคือ มุ่งเน้นความยุติธรรมที่สมดุลระหว่างประโยชน์สาธารณะที่รัฐหรือหน่วยงานของรัฐต้องรับผิดชอบต่อส่วนรวมอย่างหนึ่ง กับสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลของเอกชนอีกอย่างหนึ่ง
ส่วนกฎหมายเอกชน มีปรัชญาที่มุ่งเน้นความยุติธรรมที่เท่าเทียมกันและตั้งอยู่บนหลักเสรีภาพแห่งความสมัครใจของคู่กรณี ความไม่สมัครใจ การข่มขู่บังคับ หรือกลฉ้อฉลในกฎหมายเอกชน ย่อมไม่ก่อให้เกิดความผูกพันทางกฎหมายขึ้น (อาจเป็นโมฆะหรือโมฆียะแล้วแต่กรณี)

6. ความแตกต่างในเรื่องเขตอำนาจศาล
ปัญหาทางกฎหมายมหาชนจะนำขึ้นสู่ศาลพิเศษ เช่น ปัญหาเกี่ยวกับคดีปกครองจะนำขึ้นสู่ศาลปกครอง ปัญหาเกี่ยวกับกฎหมายรัฐธรรมนูญก็จะนำขึ้นสู่ศาลรัฐธรรมนูญ ปัญหาเกี่ยวกับเรื่องภาษีจะนำขึ้นสู่ศาลภาษี เป็นต้น
ส่วนปัญหาตามกฎหมายเอกชนนั้นจะอยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรม เช่น คดีแพ่งหรือคดีอาญา เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นย่อมต้องขึ้นสู่ศาลแพ่งหรือศาลอาญาแล้วแต่กรณี

      นอกจากนั้นวิธีพิจารณาคดียังแตกต่างกัน กล่าวคือ วิธีพิจารณาคดีของศาลในกฎหมายมหาชนจะใช้ "ระบบไต่สวน" คือ ผู้พิพากษาจะเป็นผู้สืบหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานต่าง ๆ ด้วยตนเองได้ ส่วนวิธีพิจารณาคดีตามกฎหมายเอกชนจะใช้ "ระบบกล่าวหา" คือ ผู้เป็นคู่กรณีจะต้องนำพยานหลักฐานมาสืบพิสูจน์ข้อกล่าวหาของตนเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น